ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีการระบาดในไทยทุกปี และคร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนไม่น้อย อาการช่วงแรกคล้ายไข้หวัด ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตและไม่ทราบว่าสัญญาณอันตรายแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์ กว่าจะรู้ตัวอาการก็รุนแรงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤตที่สายเกินแก้ บทความนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักกับระยะของไข้เลือดออก แต่ละช่วงมีอาการแตกต่างกันอย่างไร และจะมีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัย ตามไปอ่านกันได้เลย
ไข้เลือดออกเกิดจากอะไร?
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งแพร่กระจายผ่านการกัดของยุงลาย โดยมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สายพันธุ์ของเชื้อ การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน อายุ โรคประจำตัว หรือการติดเชื้อซ้ำซึ่งอาจทำให้อาการรุนแรงกว่าครั้งแรก [5,6]
หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตับวาย ไตวาย ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว เลือดออกมากผิดปกติ สมองขาดออกซิเจน และทำให้เสียชีวิตได้ [5,6]
ระยะของไข้เลือดออกมีกี่ระยะ?
โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดไข้เลือดครั้งแรกมักไม่มีอาการ ส่วนคนที่มีอาการจะสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1: ระยะไข้สูง
ไข้สูงมักเป็นอาการแรกที่ปรากฏ ผู้ป่วยจะมีไข้ขึ้นแบบเฉียบพลัน อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส เมื่อเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วอุณหภูมิอาจลดลงเล็กน้อย แต่ก็จะกลับมาสูงอีก นอกจากนี้ อาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ผิวบริเวณใบหน้า คอ และหน้าอกแดง ระยะนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน [1]
การดูแลตัวเอง [1,3,4]
- เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
- กินยาพาราเซตามอล ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาแอสไพริน หรือยาในกลุ่ม NSAIDs เพราะมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด เพิ่มความเสี่ยงเลือดออกในทางเดินอาหาร
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และรสชาติไม่จัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม แกงจืด ซุป เป็นต้น
- ดื่มน้ำเปล่ามากๆ หรือน้ำที่ให้พลังงานทดแทน เช่น นมถั่วเหลือง น้ำผลไม้ เกลือแร่ แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มสีแดงและดำเช่น น้ำแดง โกโก้ แก้วมังกรสีแดง บลูเบอร์รี เพราะจะทำให้สังเกตยากว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหารหรือไม่
- คอยวัดไข้ และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ปริมาณปัสสาวะ อาการเลือดออกผิดปกติ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หากมีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์
ระยะที่ 2: ระยะวิกฤต/ช็อก
หลังไข้ลดผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในวันที่ 4 - 5 หลังมีอาการ และจะเป็นอยู่ประมาณ 24 - 48 ชม. ดังนั้น หากพบว่าผู้ป่วยไข้ลดแต่ยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย กินอาหารไม่ลง ปวดท้อง อาเจียน ควรรีบมาพบแพทย์ เพราะอาจเกิดการรั่วของพลาสมาจากหลอดเลือด [1,2]
โดยเฉพาะในเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะลดลงและมีสีเข้ม ปากแห้ง กระสับกระส่าย หายใจหอบเหนื่อย ชีพจรเต้นเร็ว มือเท้าเย็น มีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง มีเลือดออกในทางเดินอาหาร เสี่ยงต่อการช็อก และเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน [1,2]
การดูแลตัวเอง [1,4]
- เมื่อพบสัญญาณเตือนของระยะวิกฤต ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อก
- ดื่มน้ำมากๆ หากดื่มน้ำหรือทานอาหารแล้วอาเจียน ให้แบ่งทานทีละน้อยแต่บ่อยขึ้น
ระยะที่ 3: ระยะฟื้นตัว
หลังผ่านพ้น 24 - 48 ชม. ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะเริ่มฟื้นตัว และมีอาการดีขึ้น น้ำในเยื่อหุ้มปอด ช่องท้อง และเนื้อเยื่อต่างๆ กลับเข้าสู่หลอดเลือด อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และความดันโลหิตเป็นปกติ ปัสสาวะมากขึ้น อยากทานอาหาร และมีผื่นจุดขาวบนปื้นสีแดงตามแขน ขา มือ และเท้า ซึ่งจะหายไปใน 1 สัปดาห์ [1,2]
การดูแลตัวเอง [1,4]
- หากมีอาการคันบริเวณผื่น ให้ทานยาแก้แพ้ หรือทายา เพื่อบรรเทาอาการคัน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงเยอะ หรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อรอให้ปริมาณเกล็ดเลือดกลับสู่ระดับปกติ
- พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากช่วงนี้ร่างกายอาจยังอ่อนเพลียอยู่บ้าง
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่มีโปรตีนและธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อปลา อกไก่ ไข่ไก่ ผักโขม บรอกโคลี คะน้า ตำลึง เป็นต้น
วิธีการป้องกันไข้เลือดออก [1,4]
- แต่งกายให้มิดชิด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และถุงเท้า เพื่อป้องกันยุงกัด
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จะช่วยในการป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกีสายพันธุ์ต่างๆและลดความรุนแรงของโรคได้
- ทายากันยุง หรือพ่นสเปรย์กันยุงบนเสื้อผ้า สามารถใช้สเปรย์ที่ทำจากสมุนไพรธรรมชาติแทนได้ เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส ลาเวนเดอร์ เป็นต้น
- นอนกางมุ้ง ติดมุ้งลวดกันยุงที่ประตู หน้าต่าง และหมั่นสำรวจมุ้งลวดอย่าให้ชำรุดหรือมีรู
- จัดบ้านให้เป็นระเบียบ กำจัดมุมอับ มุมมืดที่เป็นที่ยุงชอบไปแอบซ่อน เช่น ใต้บันได ห้องเก็บของ ราวตากผ้า หรือสวนที่มีต้นไม้ขึ้นรก
- ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำ ป้องกันยุงลายวางไข่ในแหล่งน้ำขัง หากเป็นภาชนะขนาดเล็ก เช่น แจกันดอกไม้ จานรองกระถาง ให้หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน
ที่มาของข้อมูล:
- โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์: “โรคไข้เลือดออก ภัยร้ายจากยุงลาย”.
- โรงพยาบาลบางปะกอก 9: “โรคไข้เลือดออกเดงกี ภัยร้ายจากยุงลาย รู้ทันป้องกันไว้ก่อน”.
- โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา: “อาการ และวิธีรักษาโรคไข้เลือดออก”.
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล: “ไข้เลือดออก มีวิธีรักษาและดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้ช็อก !”.
- กรมควบคุมโรค: “ไข้เด็งกี่ (Dengue)”.
- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล: “ไข้เลือดออก ภัยร้ายหน้าฝนจากยุงลาย”.
“ข้อมูลในเอกสารฉบับนี้จัดทำขึ้นสำหรับประชาชนเป็นการทั่วไปโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเท่านั้น ข้อมูลนี้ไม่ควรถูกนำไปใช้เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาปัญหาสุขภาพหรือโรคใด ๆ การให้ข้อมูลดังกล่าวนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการทดแทนการปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ โปรดปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ของท่านสำหรับคำแนะนำเพิ่มเติม”
C-ANPROM/TH/DENV/0766: MAY 2025